new banner reh

โรงพยาบาลร้อยเอ็ดเปิดหน่วยบริการรังสีรักษาด้วยเครื่องรังสีรักษา ชนิด 3 มิติ (LINAC)


โรงพยาบาลร้อยเอ็ดเปิดหน่วยบริการรังสีรักษาด้วยเครื่องรังสีรักษา ชนิด 3 มิติ (LINAC) ณ ศูนย์มะเร็งเฉลิมพระเกียรติจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลร้อยเอ็ด

28 พฤศจิกายน นี้ หน่วยบริการรังสีรักษา ศูนย์มะเร็งเฉลิมพระเกียรติจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลร้อยเอ็ด พร้อมให้การรักษาผู้ป่วยมะเร็งด้วยเครื่องรังสีรักษา ชนิด 3 มิติ (LINAC) มูลค่าเกือบ 85 ล้าน ที่มีประสิทธิการรักษามะเร็งสูงโรงพยาบาลร้อยเอ็ด ได้พัฒนาศักยภาพเป็นศูนย์เชี่ยวชาญการรักษาสาขามะเร็ง โดยความร่วมมือระหว่าง โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และกระทรวงสาธารณสุข เมื่อเดือน ธันวาคม 2552 และดำเนินการก่อสร้างอาคารเฉลิมพระเกียรติจุฬาภรณ์จนแล้วเสร็จ เริ่มให้บริการเมื่อเดือนสิงหาคม 2560 จากข้อมูลทะเบียนมะเร็งโรงพยาบาลร้อยเอ็ด ปี 2558 มะเร็งที่พบอันดับ 1 คือมะเร็งตับและมะเร็งท่อน้ำดี ปีละ 500-700 ราย อันดับสอง คือ มะเร็งเต้านม อันดับสาม คือ มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง ขณะเดียวกันมะเร็งปอด และมะเร็งผิวหนัง พบว่า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน ที่ผ่านมา โรงพยาบาลร้อยเอ็ด ได้ส่งต่อผู้ป่วยมะเร็ง เพื่อไปรับการรักษาด้วยรังสีรักษา ที่ศูนย์มะเร็งอุบลราชธานี โรงพยาบาลศรีนครินทร์ขอนแก่น และโรงพยาบาลอื่นๆที่กรุงเทพมหานคร ในปี 2558 จำนวน 653 ราย ซึ่งผู้ป่วยที่ต้องรักษาด้วยการฉายแสง ประมาณ 200-300 รายต่อปี คิดเป็นร้อยละ 45 ของผู้ป่วยมะเร็งที่ส่งต่อทั้งหมด เกิดค่าใช้จ่ายจากการฉายแสง 10,000 - 15,000 บาท/ราย/ 1 แสง ซึ่งเท่ากับ 300,000 - 450,000 บาทต่อราย รวมเป็นเงินประมาณ 60-135 ล้านบาทต่อปี ปัจจุบัน โรงพยาบาลร้อยเอ็ด มีความพร้อมในการบริการแบบครบวงจร มีหน่วยบริการรังสีรักษาด้วยเครื่องฉายแสงชนิด 3 มิติ (LINAC) มูลค่า แปดสิบสี่ล้านเก้าแสนบาท เป็นการจัดบริการแบบผู้ป่วยนอก ศักยภาพในการฉายรังสี 500 ราย/ปี พร้อมด้วย เครื่องเอกซเรย์จำลองการรักษา Brachytherapy หรือการใส่แร่ในผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูก ที่ได้รับงบประมาณจากกระทรวงสาธารณสุข โดยเริ่มรับผู้ป่วยตั้งแต่วันที่ 4 กันยายน 2560 เริ่มทำการฉายแสง วันที่18 ตุลาคม 2560 ขณะนี้มีผู้ป่วยฉายแสง ประมาณ 60 ราย/วัน เป็นประชาชนในเขตจังหวัดร้อยเอ็ด มหาสารคาม กาฬสินธุ์ และ จังหวัด อื่นๆ ส่งต่อมามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้มีทีมแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าให้บริการที่มีความรู้ความสามารถ และผ่านการอบรมเฉพาะทางหลายสาขาให้บริการ และเพื่อประโยชน์สูงสุดสำหรับประชาชน เนื่องจากผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการฉายแสง ประมาณ 15 วัน ถึง 2 เดือน ซึ่งต้องเดินทางไปกลับบ้านทุกวัน ปัญหาที่พบคือ ผู้ป่วยและญาติ ไม่มีเงินค่าเช่าที่พักต่อเนื่อง และต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปกลับ จังหวัดร้อยเอ็ด จึงได้มีแนวคิดร่วมกันในการจัดหาที่ดินเพื่อก่อสร้างบ้านพักผู้ป่วยมะเร็ง เพื่อรองรับประชาชนที่เข้ารับการรักษาด้วยการฉายแสง ซึ่งกรมธนารักษ์ได้อนุญาตใช้ที่ดินราชพัสดุ เนื้อที่ 1 ไร่ 98 ตารางวา ของที่ทำการอาสาสมัครรักษาดินแดน ห่างจากอาคารศูนย์มะเร็งเฉลิมพระเกียรติจุฬาภรณ์ 400 เมตร ได้รับการสนับสนุนการก่อสร้างบ้านพักจากกลุ่มบริษัทไทยเพิ่มพูลร้อยเอ็ดจำกัด โดยคุณจวงจิรา สุริยวนากุล บริจาคเงิน จำนวน สองล้านห้าแสนบาท และจากกองทุนสงฆ์เฉลิม พระเกียรติ 84 พรรษา สองล้านห้าแสนบาท บ้านพักผู้ป่วยมะเร็งนี้ สามารถรองรับผู้ป่วยมะเร็งได้ 100 -120 คน/วัน คาดว่าจะแล้วเสร็จในต้นปี 2561 นี้ พร้อมนี้ ได้พัฒนาศูนย์กรุณาพีร์คำทอน เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย แบบประคับประคอง ที่บ้าน เป็นระบบการส่งเสริมคุณภาพชีวิต รวมทั้งมีเครือข่ายดูแลระยะสุดท้ายทั้งจังหวัด ทำงานเชื่อมโยงจนถึงชุมชนอย่างครอบคลุม และได้รับการสนับสนุนรถส่งผู้ป่วยระยะสุดท้ายเพื่อกลับบ้าน จากองค์การบริหารส่วนจังหวัดร้อยเอ็ด และมีโรงพยาบาลศรีนครินทร์ เป็นแม่ข่ายดูแลสนับสนุนระบบบริการและส่งเสริมด้านวิชาการมาโดยตลอด เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับบริการที่มีคุณภาพในระยะสุดท้าย และในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560 เวลา 09.00 น. นายชยันต์ ศิริมาศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด ได้เป็นประธานเปิดหน่วยบริการรังสีรักษา ศูนย์มะเร็งเฉลิมพระเกียรติจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลร้อยเอ็ด ซึ่งพบว่า มีความพร้อมในการให้การรักษาผู้ป่วยมะเร็งด้วยเครื่องรังสีรักษา ชนิด 3 มิติ (LINAC) ที่มีคุณภาพประสิทธิการรักษามะเร็งสูง นับเป็นโอกาสอันดี ที่ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางไกล มีศูนย์การรักษามะเร็งที่ ครบวงจร ใกล้บ้าน ด้วยทีมแพทย์ พยาบาล และบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ

2017@ พัฒนาโดย  ศูนย์คอมพิวเตอร์ โรงพยาบาลร้อยเอ็ด  
111  ถนนรณชัยชาญยุทธ  ตำบลในเมือง  อำเภอเมือง  จังหวัดร้อยเอ็ด 45000   โทร.043-518200   FAX.  043-511503