new banner reh

หมอครอบครัวรณรงค์กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในเขตชุมชน เนื่องในสัปดาห์วันไข้เลือดออกอาเซียน ปี 2566 ( ASEAN Dengue Day)

ศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง ( สวนพยอม ) ร่วมกับ อสม. รณรงค์กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย วันไข้เลือดออกอาเซียน 15 มิถุนายน
เพื่อป้องกัน และควบคุมการระบาดของโรคไข้เลือดออก โดยงานป้องกันควบคุมโรคฯ กลุ่มงานเวชกรรมสังคมร่วมกิจกรรม
นายแพทย์ชาญชัย จันทร์วรชัยกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลร้อยเอ็ด กล่าวว่าจากข้อมูลจากระบบรายงานเฝ้าระวังโรค สถานการณ์โรคไข้เลือดออก ในประเทศไทย ปี 2566 (ระหว่างวันที่ 1 ม.ค.- 1 มี.ค.66) พบผู้ป่วยจำนวน 6,156 ราย เสียชีวิต 4 ราย กลุ่มอายุที่อัตราป่วยพบมากที่สุด 3 อันดับ คือ 5-14 ปี, 15-24 ปี และ 0-4 ปี คิดเป็น ร้อยละ 27.81, 16.39 และ12.76 ตามลำดับ อัตราส่วนเพศหญิงต่อเพศชายเป็น 1:1.10 พื้นที่ที่พบอัตราป่วยสูงสุด คือ กรุงเทพฯ, ภาคใต้, ภาคกลาง, ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คิดเป็นร้อยละ 23.84, 16.33, 14.07, 4.60 และ1.51 ตามลำดับ จำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก รายเดือนในปี 2566 เมื่อเทียบกับปี 2565 พบว่า ในเดือนมกราคมมีผู้ป่วยมากกว่าปีที่แล้ว 6.6 เท่า
การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพ คาดว่ามีแนวโน้มพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น จากข้อมูลผู้ป่วยไข้เลือดออก ที่มารับการรักษาที่ โรงพยาบาลร้อยเอ็ด ปี 2564 จำนวน 81 คน ปี 2565 จำนวน 147 คน และปี 2566 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 15 มิถุนายน 2566 จำนวน 38 คน ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต ตั้งแต่ปี 64
จึงขอความร่วมมือให้พี่น้องประชาชนมีส่วนร่วมในการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคไข้เลือดออกในชุมชน
โดยการปฏิบัติตามมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” ได้แก่ เก็บบ้าน ให้ปลอดโปร่งไม่ให้ยุงลายเกาะพัก จัดเก็บเสื้อผ้าใส่ตู้
ให้เป็นระเบียบ เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ เช่น กะลา กระป๋อง ถุงพลาสติก ควรเก็บทิ้งหรือถม ยางรถยนต์เก่าสามารถดัดแปลงนำมาใช้ประโยชน์หรือขายให้สถานประกอบการ เก็บแหล่งน้ำ ปิดให้มิดชิด เปลี่ยนถ่ายน้ำทุกสัปดาห์ไม่ให้ยุงลายวางไข่ ภาชนะขังน้ำขนาดเล็กหมั่นเปลี่ยนน้ำทุก 7 วัน เช่น แจกันดอกไม้สด แจกันหิ้งบูชาพระ แจกันที่ศาลพระภูมิ
ขวดเลี้ยงพลูด่าง ไม้ประดับ ใส่ทรายธรรมดาในจานรองกระถางต้นไม้ให้ดูดซับน้ำ จะสามารถป้องกันได้ 3 โรค
คือ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย ทั้งนี้ ประชาชนควรสังเกตอาการของตนเอง
และครอบครัว โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็ก หรือผู้ใหญ่ที่มีโรคประจำตัว และผู้สูงอายุ หากมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน
นานเกินกว่า 2 วันร่วมด้วยกับอาการอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย เบื่ออาหาร หน้าแดง ควรรีบไปพบแพทย์
เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม ไม่ควรซื้อยากินเอง โดยเฉพาะยาในกลุ่มที่ทำให้เกิดภาวะเลือดออกง่าย หยุดยาก รวมถึงภาวะตับวาย เช่น ยาแอสไพริน ไอบูโพรเฟน และ ไดโคลฟีแนค สำหรับร้านขายยาและคลินิก ควรแนะนำผู้ป่วยสงสัยโรคไข้เลือดออก
ให้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล
อุไรพรณ์ ทิดจันทึก : บรรณาธิการ / วิทวุฒิ บุตรกำพี้ : ข่าว : ภาพ /โรงพยาบาลร้อยเอ็ด

 

 

2017@ พัฒนาโดย  ศูนย์คอมพิวเตอร์ โรงพยาบาลร้อยเอ็ด  
111  ถนนรณชัยชาญยุทธ  ตำบลในเมือง  อำเภอเมือง  จังหวัดร้อยเอ็ด 45000   โทร.043-518200   FAX.  043-511503