โรงพยาบาลร้อยเอ็ด ร่วมกับศูนย์การุณรักษ์ จัดอบรม “การดูแลพระอาพาธระยะท้าย” หนุนนโยบาย “กุฎิชีวาภิบาล” เพิ่มองค์ความรู้พระคิลานุปัฏฐาก และสร้างมาตรฐานการดูแลพระสงฆ์อาพาธระยะท้ายตามหลักพระธรรมวินัย
- หมวด: ข่าวประชาสัมพันธ์
- เผยแพร่เมื่อ: วันพฤหัสบดี, 08 กุมภาพันธ์ 2567 16:37
- เขียนโดย สุกัญญา ขาวศรี
- ฮิต: 512
เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2567 ที่วัดวิมลนิวาส พระครูวิมล บุญโกศล เจ้าอาวาสวัดวิมลนิวาส เป็นประธานมอบใบประกาศนียบัตร แด่พระสงฆ์ที่ผ่านการอบรม ภาคทฤษฎี “หลักสูตรการดูแลพระอาพาธระยะท้ายของพระคิลานุปัฏฐาก” โดยมี แพทย์หญิงนภัสวรรณ์ ภูริพันธุ์ภิญโญ รองผู้อำนวยการด้านปฐมภูมิ แพทย์หญิง วีรจิตร ทิพย์ประเสริฐ หัวหน้ากลุ่มงานเวชกรรมสังคม และทีมพยาบาลผู้เชี่ยวชาญการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองร่วมงาน มีพระคิลานุปัฏฐาก จากวัดต่างๆในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 7 ร้อยแก่นสารสินธุ์ เข้ารับการอบรม ในวันที่ 15-19 มกราคม 2567 จำนวน 18 รูป
นายแพทย์ชาญชัย จันทร์วรชัยกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลร้อยเอ็ด กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้การดูแลสุขภาพพระสงฆ์ เป็นหนึ่งในนโยบายที่ต้องดำเนินการ โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ดูแลรักษา ฟื้นฟูสภาพร่างกาย สร้างความรู้ความเข้าใจ และทักษะ ในการดูแลสุขภาพอนามัย ตามหลักพระธรรมวินัยให้กับพระภิกษุสงฆ์ รวมทั้งส่งเสริมให้วัดเป็นวัดส่งเสริมสุขภาพ โดยพัฒนาเครือข่ายพระคิลานุปัฏฐาก หรือพระอาสาสมัครส่งเสริมสุขภาพประจำวัด ให้มีความรู้ เป็นแกนนำในการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ภายในวัดและขยายผลสู่ประชาชนในชุมชน
อย่างไรก็ตามแม้จะให้การดูแลรักษาอย่างเต็มที่แล้ว แต่ในบางสภาวะก็ไม่สามารถทำให้โรคหรือการเจ็บป่วยนั้นหายได้ เมื่อโรคดำเนินถึงระยะท้ายจำเป็นต้องมีการดูแลเพื่อประคับประคองให้ผู้ป่วยจากไปอย่างสงบ ปราศจากความทุกข์ทรมาน และสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และในสถานการณ์ของพระสงฆ์ ที่อาพาธระยะท้ายก็เช่นเดียวกัน พระสงฆ์บางรูปต้องลาสิกขาเนื่องจากขาดผู้ดูแล กระทรวงสาธารณสุขและเครือข่ายเขตสุขภาพที่ 7 ได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นที่พระสงฆ์ต้องมีความรู้ในการดูแลสงฆ์อาพาธระยะท้ายด้วย
ดังนั้นโรงพยาบาลร้อยเอ็ด เครือข่ายดูแลแบบประคับประคองเขตสุขภาพที่ 7 ร่วมกับศูนย์การุณรักษ์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงได้จัดอบรมหลักสูตร “การดูแลพระอาพาธระยะท้ายของพระคิลานุปัฏฐาก” เพื่อพัฒนาศักยภาพพระคิลานุปัฏฐากให้มีความรู้ความสามารถเพิ่มขึ้น และจัดตั้ง “กุฏิชีวาภิบาล” ให้เป็นที่พักในการดูแลพระอาพาธระยะท้ายที่มีมาตรฐานตามหลักการดูแลแบบประคับประคอง และสร้างภาคีเครือข่ายร่วมกับโรงพยาบาลชุมชน และ รพ.สต.
ด้านแพทย์หญิงนภัสวรรณ์ ภูริพันธุ์ภิญโญ รองผู้อำนวยการด้านปฐมภูมิ กล่าวว่า “หลักสูตรการดูแลพระอาพาธระยะท้ายของพระคิลานุปัฏฐาก” มีการอบรม 2 ช่วงคือ ภาคทฤษฎี 5 วัน คือวันที่ 15-19 มกราคม 2567 ซึ่งอบรมที่ วัดวิมลนิวาส โดยมีวิทยากรผู้เชียวชาญสอนผ่านระบบออนไลน์ จากศูนย์การุณรักษ์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และช่วงที่ 2 เป็นการอบรมภาคปฏิบัติ 3 สัปดาห์ ในวันที่ 22 มกราคม - 9กุมภาพันธ์ 2567 โดยเป็นการฝึกปฏิบัติจริงกับผู้ป่วยสงฆ์อาพาธที่โรงพยาบาลร้อยเอ็ด
อุไรพรณ์ ทิดจันทึก : บรรณาธิการ / อัครพล ปัญญาวิภาส : ข่าว ภาพ/ โรงพยาบาลร้อยเอ็ด / 8 กุมภาพันธ์ 2567